สถาบันการบินพลเรือน

Civil Aviation Training Center

การประชุมวิชาการ
ด้านการบิน ระดับชาติ ครั้งที่ 3 

The 3rd Aviation National Symposium

3 กรกฎาคม 2566
เวลา 08.30 – 12.00 น.
ณ สถาบันการบินพลเรือน

บทความที่ถูกนำเสนอในงานจะถูกเผยแพร่
แบบ Full Paper ผ่าน Proceeding Book 

อัตราค่าลงทะเบียน
บทความภาษาไทย 2,000 บาท / บทความภาษาอังฤษ 2,500 บาท / บทความโปสเตอร์ 2,500 บาท

***ยกเว้นค่าลงทะเบียนให้ นักเรียน นักศึกษา พนักงานสบพ. บุคลากรจาก มทส. และ BAFs***

ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน

ดาวน์โหลดกำหนดการ

หลักการและเหตุผล

        ด้วยสถาบันการบินพลเรือน รัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม จัดตั้งขึ้นโดยโครงการความร่วมมือระหว่างกองทุนพิเศษสหประชาชาติ (United Nation Special Fund : UNDP) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และรัฐบาลไทย มีภารกิจหลักในการผลิตและพัฒนาบุคลากรการบินให้กับหน่วยงานด้านการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งตลอด ระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา สถาบันการบินพลเรือนได้รับการยอมรับจากหน่วยงานอุตสาหกรรมด้านการบินในแถบภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลกว่าเป็นสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิชาการและมีหลักสูตรหลากหลายตามมาตรฐานสากล สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถาบันการบินพลเรือน กล่าวคือ “เป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศในวิชาชีพด้านการบินโดยมีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินของชาติและภูมิภาคอาเซียน” ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันได้ผลิตบุคลากรด้านการบินจากหลายประเทศ ทั้งหลักสูตรภาคพื้น หลักสูตรภาคอากาศและหลักสูตรฝึกอบรม

        นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิต การซ่อมบำรุงอากาศยานของภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายทั้งสายการบินภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งอาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ด้านเทคนิคระดับสูง มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทำงาน ดังนั้นปัจจัยสู่ความสำเร็จ คือ การพัฒนากำลังคนให้มีความพร้อมและสามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมที่จะขยายตัว ทั้งนี้สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับมหาวิทยาลัยเพื่อให้บุคคลที่จะทำงานในอุตสาหกรรมการบินมีความรู้ ความสามารถตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งการวิจัยเป็นกระบวนการส่งเสริมการศึกษาให้ผู้เรียนมีการคิดอย่างมีหลักการเป็นขั้นตอน เพื่อสร้างและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้กับชุมชน สังคม เศษฐกิจและประเทศชาติ ซึ่งหากประเทศใดมีการส่งเสริมให้คนในประเทศมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยก็จะทำให้ประเทศนำไปสู่ความเจริญทางด้านวิทยาการและเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี สบพ. ได้เล็งเห็นความสำคัญในการนำองค์ความรู้วิชาการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินมาบูรณาการ เพื่อพัฒนาให้อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้า ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้อาจารย์ นักศึกษาและนักวิชาการ ที่มีผลงานวิชาการด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมการบินให้มีคุณภาพ อีกทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสถาบันการศึกษา สายการบิน และหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยวมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมการบินที่ดีที่สุดในภูมิภาค

        กองวิชาบริหารการบิน สบพ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ดำเนินกิจกรรม โครงการประชุมวิชาการอย่างต่อเนื่อง โดยคาดหวังว่ากิจกรรมดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนางานวิจัยด้านการบินและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี รวมทั้งผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้นำเสนอผลงานทางวิชาการสู่สาธารณชน และสร้างความร่วมมือทางด้านการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการใหม่ ซึ่งเป็นเป้าหมายอันสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมให้ธุรกิจของประเทศมีความเข้มแข็ง และมีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์

   1. เพื่อส่งเสริมให้เผยแพร่บทความในสาขาวิชาต่าง ๆ ของนักศึกษา พนักงาน และบุคคล ทั่วไปสู่สาธารณชน        

   2. เพื่อเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารการวิจัย ระหว่าง นักศึกษา พนักงาน  หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หน่วยงานต่างประเทศ รวมถึง เครือข่ายพันธมิตรทางด้าน การบินและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

   3. เพื่อนำผลงานวิชาการมาเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร และพัฒนาการเรียนการสอนอย่างยั่งยืน 

ผู้สนับสนุนหลัก